กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ >> ข้อมูลทางวิชาการ

เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับน้ำยางสด (14/11/60)


วันที่ 14 พ.ย. 2560

t20171114091117_20767.jpg
           น้ำยางสดเป็นของเหลวสีขาวคล้าย ๆ น้ำกะทิหรือน้ำนม น้ำยางสดจะมีความหนืดเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีฤทธิ์เป็นกลางและมีประจุลบจึงต้องใช้สารที่มีประจุบวกในการจับตัวยาง น้ำยางหลังจากกรีด ถ้าหากตั้งทิ้งไว้นานกว่า 4 ชั่วโมง จะเริ่มเสียสภาพสังเกตจากน้ำยางขณะที่ยังสดจะเหลวสามารถกระจายตัวได้ดีในน้ำ
          ถ้าน้ำยางสดเริ่มเสียสภาพจะข้นหรือหนืดเล็กน้อย การกระจายตัวในน้ำจะช้ากว่าปกติ แต่ถ้าหากน้ำยางเริ่มบูดน้ำยางจะเริ่มเกาะตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ และสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนหากหยดน้ำยางเพียง 1 หยด ลงในน้ำ ถ้าน้ำยางเริ่มเสียสภาพจะเห็นการจับตัวของเนื้อยางเป็นเม็ดเล็ก ๆ ในน้ำได้อย่างชัดเจน หรือสังเกตเมื่อหยดน้ำยางลงในน้ำแล้วน้ำยางกระจายตัวอย่างช้า ๆ แสดงว่าน้ำยางเริ่มเสียสภาพ ในทางตรงข้ามหากน้ำยางยังสดอยู่ เมื่อหยดลงในน้ำจะสามารถกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ
          หากปล่อยทิ้งให้บูดเน่าน้ำยางจะจับตัวเป็นก้อน เกิดกลิ่นเหม็นเนื่องจากโปรตีนที่อยู่ในน้ำยางมีองค์ประกอบของกำมะถันแล้วทำปฎิกิริยากับจุลินทรีย์เกิดปฎิกิริยาเป็นก๊าซไข่เน่าและเมอร์แคปแทนที่มีกลิ่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝนจะจับตัวเร็วกว่าปกติ น้ำยางที่เสียสภาพจะไม่แนะนำให้ผลิตเป็นยางแผ่นดิบเพราะจะเกิดฟองอากาศในแผ่นยาง และไม่แนะนำให้ผลิตเป็นน้ำยางข้นเพราะจะไม่สามารถควบคุมค่าความบูดของน้ำยางได้ นอกเสียจากจะนำไปทำเป็นยางก้อนหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตยางแท่ง
          น้ำยางสดมีปริมาณเนื้อยางแห้ง (DRC) ตั้งแต่ 25 – 40% ช่วงที่เริ่มเปิดกรีดครั้งแรกน้ำยางจะมี DRC น้อยเฉลี่ย 27% และ DRC จะมากขึ้นตามอายุของต้นยางโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 33% ต้นยางที่อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปจะมี DRC ประมาณ 40% สำหรับในช่วงที่ยางผลัดใบหรือช่วงปิดกรีด ต้นยางจะผลิตน้ำยางลดลง เพราะสารคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในใบซึ่งเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตน้ำยางไม่สามารถสร้างน้ำยางได้ แต่เมื่อถึงช่วงฤดูเปิดกรีดอีกครั้งน้ำยางที่กรีดออกมาในช่วง 1 – 4 วันแรก น้ำยางจะข้นและค่อนข้างหนืด เนื่องจากมีสารที่ไม่ใช่ยางออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้การเปิดกรีดช่วงนี้น้ำยางจะเสียสภาพเร็ว ส่วนใหญ่มักจะนำไปทำยางก้อนมากกว่าจะขายในรูปน้ำยางสดหรือทำยางแผ่นดิบ
         อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางชนิดใด ถ้าเป็นไปได้น้ำยางนั้นควรมีความสดและสะอาดมากที่สุด ให้ใช้สารรักษาสภาพน้ำยางเท่าที่จำเป็น หากใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะได้คุณภาพยางต่ำกว่ามาตรฐานแล้วยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
เรื่อง/ภาพ : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683