กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ >> ข้อมูลทางวิชาการ

โรงงานน้ำยางสดระวัง......ห้ามนำน้ำยางสดสำหรับส่งโรงงานน้ำยางข้นมาผลิตยางแผ่นรมควัน (4/02/61)


วันที่ 4 ก.พ. 2561

t20180204224218_23501.jpg
t20180204224226_23502.jpg
        น้ำยางสดที่ส่งโรงงานยางดิบประเภทต่างๆ จะมีการใช้สารรักษาสภาพน้ำยางที่แตกต่างกัน เช่น น้ำยางสดสำหรับส่งโรงงานน้ำยางข้น ต้องใช้สารรักษาสภาพน้ำยางที่สามารถคงความสดได้เป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อไม่ให้น้ำยางบูด ซึ่งสารที่นิยมใช้คือแอมโมเนีย เนื่องจากประสิทธิภาพสูง ใช้ในอัตรา 0.3% - 0.5% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด แต่เนื่องจากน้ำยางสดที่นำไปปั่นเป็นน้ำยางข้นต้องใช้เวลาเก็บก่อนปั่นอีก 1 วัน เพื่อตกตะกอนแมกนีเซียม การเพิ่มปริมาณแอมโมเนีย เพื่อลดความบูดหรือกรดไขมันระเหยได้ (Volatile Fatty Acid, VFA No.) นั้นไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องใช้แอมโมเนียร่วมกับ TMTD/ZnO หรือที่เรียก ยาขาว ในอัตรา 0.025% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด จะสามารถควบคุมกรดไขมันระเหยได้ ให้ต่ำกว่า 0.02 ไว้ได้นานถึง 3 วัน ซึ่งสารที่ใช้รักษาสภาพน้ำยางสดแบบนี้ เหมาะสำหรับน้ำยางสดที่ส่งขายยังโรงงานผลิตน้ำยางข้นเท่านั้น เพราะหากจะนำมาผลิตเป็นยางแผ่นดิบหรือยางแผ่นรมควัน จำเป็นต้องใช้ปริมาณกรดมาก ยางที่จับตัวจะแข็ง รีดยาง จะทำให้แผ่นยางขาดสปริง นอกจากนี้แผ่นยางเหนียวและมีสีคล้ำ เมื่อวางซ้อนทับกันจะดึงหรือลอกออกยาก
       ส่วนสารเคมีที่ใช้รักษาสภาพน้ำยางสดสำหรับผลิตยางแผ่นรมควัน แนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ใช้โซเดียมซัลไฟต์ ในอัตรา 0.05% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด หรือสารละลายแอมโมเนียในอัตรา 0.03% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด สามารถรักษาสภาพน้ำยางได้นานถึง 6 ชั่วโมง
       สำหรับน้ำยางสดที่นำไปผลิตเป็นยางแท่ง STR5L ยางเกรดนี้เป็นยางแท่งชั้นพิเศษที่ต้องการสีของยางจางกว่ายางแผ่นอบแห้ง การรักษาสภาพของน้ำยางสด จึงต้องพิจารณาถึงสารเคมีที่ใช้อย่างรอบคอบ การใช้โซเดียมซัลไฟต์ 0.05% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด สามารถรักษาสภาพได้นาน 4 ชั่วโมง และถ้าต้องการให้สีจางเป็นพิเศษ อาจใช้แอมโมเนียร่วมกับกรดบอริก ในอัตรา 0.05% : 0.05% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด สามารถรักษาสภาพน้ำยางสดได้นานถึง 40 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องใช้ร่วมกับโซเดียมเมตะไบซัลไฟต์ จะช่วยให้สีจางได้ตามต้องการ
        ดังนั้น การใช้สารรักษาสภาพน้ำยางสดจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเหมาะสม คำนึงถึงสมบัติทางกายภาพของยางที่ผลิตได้ หากใช้สารรักษาสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการนำไปแปรรูปเป็นยางดิบชนิดนั้น ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน เรื่อง/ภาพ : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล
t20180204224232_23504.jpg
t20180204224238_23505.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683