กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวผู้บริหาร

กยท. จัดสื่อมวลชนสัญจร จ. บุรีรัมย์ ดูงานแปรรูปหมอนยาง เพิ่มมูลค่ายางในท้องที่ สร้างรายได้และอาชีพเสริมให้ชุมชน


วันที่ 6 ก.ย. 2559

            การยางฯ จัดสื่อมวลชนสัญจร พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ดูงานการแปรรูปน้ำยางข้น สู่ผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา เพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างรายได้และอาชีพเสริมให้ชุมชน
                เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหาร กยท. นำโดย ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนร่วมเดินทางดูการดำเนินงานของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ. บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มการพัฒนาสวนยางและผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ในทิศทางที่ขยายตัวมากขึ้น ตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบของภาครัฐ การยางแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมทั้งเดินหน้าเพื่อก้าวสู่ประตูการค้าอินโดจีน
               ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมากถึง 80-90% ของปริมาณยางทั้งประเทศ ที่ผ่านมาราคายางจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ประเทศทวีปยุโรป หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ไม่สูงมากนัก จึงส่งผลต่อการส่งออกยางพาราไทย นโยบายของรัฐจึงสนับสนุนการแปรรูปยางพาราขั้นปลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มมูลค่ายางพาราซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรภายในประเทศ จากที่เคยส่งออกในรูปของวัตถุดิบ อย่างเช่น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางก้อนถ้วย น้ำยางข้น และยางลูกขุน สู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ
             "บุรีพารา” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปหมอนยางพารา ต. สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งกลุ่มตัวอย่างการแปรรูปยางพาราขั้นปลายทาง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ทั้งในเรื่อง วิชาการความรู้ เงินทุน และการร่วมกันหาตลาด ซึ่งพบว่าขณะนี้หมอนยางพารา มีความต้องการในตลาดสูงมาก โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากหลายๆ ประเทศก็ให้ความสนใจ ทำให้จากเดิมเกษตรกรขายน้ำยางดิบ กิโลกรัมละประมาณ 40 บาท เมื่อเปลี่ยนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่นหมอนยางพารา โดยหมอน 4 ใบใช้น้ำยาง 10 กิโลกรัม ต้นทุนหลักที่ประมาณ 400 บาท สามารถขายปลีกได้ใบละประมาณ 1,000 บาท เท่ากับ 4 ใบ ขายได้ราคา 4,000 บาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า ขณะเดียวกันยังช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน เพราะกลุ่มบุรีพารา จ้างคนในพื้นที่เป็นแรงงานในโรงงานผลิตหมอนยาง ออกแบบลายและเย็บปลอกหมอน แต่ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ จังหวัดบุรีรัมย์มีการดำเนินงานยางพาราแบบครบวงจรที่น่าสนใจ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หากกลุ่มต้นทาง คือเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถผลิตน้ำยางสดที่มีคุณภาพ และกลุ่มหรือสหกรณ์ดำเนินการรับซื้อ พร้อมทั้งแปรรูปเป็นน้ำยางข้น เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยาง เพียงเท่านี้ จะสร้างรายได้ภายในจังหวัด สร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนหรือเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
             ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปรรูปเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการขยายผลผลิตยางพาราภายในประเทศ การยางแห่งประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยยาง ได้คิดค้นผลการวิจัยหลายชิ้นงานออกมาสู่ตลาด เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำมาเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการยางพาราไทย ที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะกระจายออกไปในปีนี้และปีถัด ๆไป ณ วันนี้ หลายหน่วยงานจะมีการประเมินราคาต้นทุนการผลิตและราคาขาย ควรเป็นราคาที่ทั้งผู้ปลูก และผู้แปรรูปอยู่ได้ รวมทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อก็อยู่ได้เช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งหากราคายางสูงเกินไปจะทำให้ความต้องการในการใช้น้อยลง ผู้ใช้จะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ ยางเทียมมากขึ้น หากราคายางที่มีเสถียรภาพจะทำให้ผู้ปลูกสามารถประเมินสถานการณ์การปลูกเองได้ ผู้ผลิตสามารถวางแผนการใช้วัตถุดิบยางพาราได้ การยางแห่งประเทศไทยจึงพยายามดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
t20160906102152_11289.jpg
t20160906102201_11290.jpg
t20160906102208_11291.jpg
t20160906102215_11292.jpg
t20160906102234_11293.jpg
t20160906102245_11294.jpg
t20160906102300_11295.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683