กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ >> ข่าวประชาสัมพันธ์

ยางดำ.....ใช่ว่าขี้เหร่ วงการอุตสาหกรรมยางล้อ ยกนิ้วให้


วันที่ 31 มี.ค. 2560

t20170331192909_15749.jpg
t20170331192848_15750.jpg
t20170331192857_15751.jpg
          น้ำยางสดที่กรีดจากต้นใหม่ ๆ จะเป็นสีขาว แต่เมื่อทำให้แห้งจะให้สีที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่สีเหลืองอ่อน จนถึงสีเหลืองเข้ม บ้างก็ออกน้ำตาลหรือสีดำเนื่องจากเม็ดสีที่อยู่ในน้ำยางที่เรียกคาโรทีนอยด์ นอกจากนี้ยังมีเอ็นไซม์โพลีฟีนอลอ๊อกซิเดสเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศก็จะเกิดสีคล้ำขึ้น
          น้ำยางสดนำมาแปรรูปได้หลายชนิด เช่น น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นอบแห้ง ยางแผ่นรมควัน ซึ่งในกระบวนการผลิตยางแท่ง STR5L ยางเครพขาว ยางแผ่นอบแห้ง และน้ำยางข้นเกรดพิเศษจำเป็นต้องคัดน้ำยางที่ให้สีขาว ส่วนการผลิตยางแผ่นรมควันสามารถใช้ยางพันธุ์ต่าง ๆ ได้โดยไม่จำกัดเรื่องสีของแผ่นยาง และใช้หลักการคัดคุณภาพด้วยสายตาตามมาตรฐาน The Green Book พิจารณาจากความสะอาด ฟองอากาศ ขนาดของแผ่น ความหนาบาง เช่นเดียวกับยางแผ่นดิบที่มีความสะอาด ปริมาณความชื้นในแผ่นน้อย ก็สามารถจัดเป็นยางแผ่นดิบที่มีคุณภาพดี
          ในการซื้อขายยางแผ่นดิบส่วนใหญ่มักพบยางแผ่นที่มีสีน้ำตาลหรือสีเหลือง น้อยครั้งที่จะเจอยางแผ่นสีดำสนิท แต่หากยางแผ่นนั้นมีสีดำ คล้ำ ที่เกิดจากลักษณะพันธุ์ยางที่มีสมบัติตรงข้อกำหนดก็สามารถจัดเป็นยางแผ่นดิบคุณภาพดีได้เช่นกัน แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะจัดให้ยางดำเป็นยางที่มีคุณภาพด้อยสุด แน่นอนว่าราคาราคาก็ลดต่ำลงด้วยทำให้เกษตรกรที่ปลูกยางพันธุ์สีดำตัดสินใจโค่นทิ้งไปหลายราย แต่หารู้ไม่ว่ายางที่มีสีดำนี้มีสมบัติด้านความยืดหยุ่นหรือที่เรียก Po มีค่าสูงกว่า 45 ค่าเสื่อมสภาพของยางหรือ PRI อยู่ในช่วง 85 -100 ความหนืดมูนนี่อยู่ในช่วง 75 – 85 ซึ่งสมบัติเหล่านี้เป็นที่ต้องการของวงการผลิตยางล้ออย่างยิ่ง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง ความต้านทานต่อการเสื่อมสภาพดีเยี่ยม และยางมีความหนืดที่พอเหมาะในการนำไปบดผสมกับสารเคมีที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์นั้นรับแรงเสียดทานสูง
           ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ได้เคยลงข้อมูลยางแผ่นดิบสีดำไว้แล้วแต่เนื่องจากมีผู้คนสนใจอย่างมากจึงได้อธิบายให้กระจ่างถึงสมบัติทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าในอนาคตเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ควรจะศึกษาอย่างจริงจัง หากได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการอุตสาหกรรมยางล้อและยางทางวิศวกรรมเนื่องจากเป็นยางที่ให้สมบัติดีเยี่ยม สามารถรับกับน้ำหนักกดทับได้สูง และเป็นที่สังเกตว่าถึงแม้จะมีสำดำแต่ก็สามารถต้านทานต่อการเสื่อมสภาพได้ดีไม่แพ้พันธุ์ยางทั่ว ๆ ไป
           สำหรับยางที่ให้สีดำ จะมีเอ็นไซม์และเม็ดสีคาโรทีนอยด์ที่ส่งผลต่อสีในยางที่แห้งแล้วซึ่งพบได้ในพันธุ์ PBM1, RRIT156, RRIT226 และ PR261 ซึ่งพันธุ์ยางเหล่านี้ไม่เหมาะในการนำไปผลิตเป็นน้ำยางข้นเนื่องจากไม่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีสีคล้ำ หรือนำไปผลิตเป็นยางแท่ง STR5L ที่เน้นเรื่องสีจาง แต่หากเป็นยางล้อแล้วสีของยางจะไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างไรเพราะในกระบวนการผลิตจะต้องนำไปผสมกับเขม่าดำที่ต้องการความแข็งแรง ทนต่อการสึกหรอ นับเป็นก้าวใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมยางล้อที่จะต้องไม่รังเกียจยางดำอีกต่อไป
 
เรื่อง/ภาพ : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683