กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง RSS

กยท. ชู ยางพาราภาคเหนือ มุ่งพัฒนาแบบครบวงจรพลิกแนวคิดเกษตรเชิงเดี่ยว พัฒนาสู่เกษตรผสมผสาน เพื่อรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืน


วันที่ 6 ก.ย. 2560

           กยท. ลงพื้นที่สวนยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มุ่งพัฒนาสวนยางในรูปแบบเกษตรผสมผสานครบวงจรของนายสมจิตร์ บรรณจักร์ เจ้าของสวนยางผู้มีความสนใจในเรื่องการทำเกษตร ผันตนเองจากรับราชการมาสู่การเป็นเกษตรกรเต็มตัว พลิกแนวคิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวพื้นที่กว่า 60 ไร่ เป็นสวนเกษตรผสมผสานปลูกยางพารา ร่วมพืชชนิดอื่นๆ ใต้ร่มยางให้ผลผลิตหมุนเวียนกันในรอบปี ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ เกิดผลที่มั่นคงและยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว
           ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. เดินหน้าผลักดันให้การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล โดยเริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย หันมาปลูกยางตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการโค่นยางพาราแล้วยังปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือปลูกยางพารา จะส่งเสริมให้มีการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อ การทำปศุสัตว์ หรือทำปลูกพืชท้องถิ่นอื่นๆ ร่วมด้วยในแปลงสวนยาง เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด หรือหากมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่แล้ว กยท.จะส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่น หรือการทำปศุสัตว์ เป็นลักษณะเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ด้วย จะเห็นได้จากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่โดยอยู่ในความดูแลของการยางแห่งประเทศไทย จ.เชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 2,067 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางประมาณ 20,610 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ประกอบอาชีพอื่นๆ ควบคู่กับการทำสวนยางพารา ทำให้สิ่งที่ การยางแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางในด้านการปลูกสร้างและการดูแลสวนยางแล้ว การยกระดับความเข้มแข็งของเกษตรกรด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งผลักดันและส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือ แม้จะได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศจีน แต่ด้วยปริมาณผลผลิต และการลงทุนภาคเอกชนในการแปรรูป ตลอดจนภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้การขนส่งค่อนข้างลำบาก ฉะนั้น การจัดตั้งตลาดยางพาราระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายผลผลิต เพื่อเป็นการสร้างอำนาจการต่อรอง จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.จ.เชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นนิติบุคคล 10 กลุ่ม และสถาบันเกษตรกรและเครือข่ายชาวสวนยาง 79 กลุ่ม และที่สำคัญ มีจุดรวบรวมยางที่เป็นตลาดประมูลยางแบบครบวงจรทั้งหมด 15 แห่ง คาดว่า จะรวบรวมยางประมาณ 2,500 ตันต่อปี
         ด้านนายสมจิตร์ บรรณจักร์ เจ้าของสวนยางเกษตรผสมผสาน เผยว่า โดยส่วนตัวมีความสนใจในเรื่องการทำเกษตรมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม จึงผันตนเองจากรับราชการมาสู่การเป็นเกษตรกรเต็มตัว ด้วยพื้นที่ 60 กว่าไร่ เริ่มต้นจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นสวนลิ้นจี่ มาจนถึงสวนส้ม แต่ประสบปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และประกอบกับในช่วงปี 2547 – 2549 รัฐบาลมีโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ จึงหันมาปลูกยางพารา โดยขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ RRIM 600 จำนวน 2,000 กว่าต้น และซื้อเพิ่มด้วยทุนของตนเองอีกประมาณ 2,000 ต้นเช่นกัน คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 30 ไร่ และในคราวนี้จึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนเป็นการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกต้นสัก มะม่วง และมีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา พร้อมการปลูกไม้ใต้ร่มยาง ซึ่งเลือกเป็นปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเพิ่มเข้ามาด้วย เพราะได้ศึกษาแล้วพบว่าการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตหมุนเวียนกันในรอบปี และการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย เกิดผลที่ยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว
        ในส่วนของสวนยางพาราเริ่มเปิดกรีดได้เมื่อปี 2559 ซึ่งเก็บผลผลิตเป็นยางก้อนถ้วยและจะส่งขายทุกๆ 7 วัน ปริมาณผลผลิตที่ขายจะประมาณ 2 ตันต่อครั้ง ทำให้มีรายได้ต่อเดือนที่รับจากการปลูกยางพาราประมาณ 60,000 บาท ในส่วนของพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 30 ไร่ จึงได้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเป็น 2 บ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำ และใช้เป็นบ่อเลี้ยงพันธุ์ปลาสวาย ปลานิล และอีกหนึ่งบ่อหนึ่งเป็นบ่อปลารวมหลายๆ ชนิด โดยใช้เวลาในการเลี้ยงรอบละ 6 เดือน จึงให้พ่อค้ามารับซื้อได้ นอกจากนั้น ได้มีการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ปัจจุบันเลี้ยงไว้ประมาณ 20,000 ตัว ซึ่งให้ผลผลิตต่อวันประมาณ 14,000-15,000 ฟอง ซึ่งจะมีระยะการให้ไข่ได้ 18 เดือน และยังมีขี้ไก่ที่สามารถขายได้อีกประมาณวันละ 40-50 กระสอบ ส่วนของกาแฟที่เป็นการปลูกในพื้นที่ใต้ร่มยางจำนวน 30 ไร่นั้น เริ่มมีการเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ปี 2559 รอบการเก็บผลผลิตเฉลี่ย 4 เดือนต่อครั้ง เก็บได้ครั้งละประมาณ 800-900 กิโลกรัม ราคาขายที่ 95-100 บาทต่อกิโลกรัม ก็นับว่ามีรายได้อย่างต่อเนื่องทุกๆ วัน
          "การปรับแนวคิดจากเกษตรเชิงเดี่ยว มาสู่เกษตรผสมผสาน ยึดตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกิดจากความเชื่อและความรักในการเป็นเกษตรกร พร้อมทั้งจากการศึกษาหาความรู้มาตลอดชีวิตที่ผ่านมาจึงพบว่า การทำเกษตรที่ยั่งยืน ควรเริ่มจากตัวเกษตรกรเองที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่หวังพึ่งจากผลผลิตชนิดใดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะการทำเกษตรที่ได้ผลิตหมุนเวียนตลอดปี จะทำได้เกิดรายได้ที่มั่นคั่ง และทำให้ชีวิตมีความมั่นคง อย่างยั่งยืน” นายสมจิตร์ กล่าว ทิ้งท้าย
 
 ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
t20170906103316_18845.jpg
t20170906103334_18846.jpg
t20170906103347_18847.jpg
t20170906103409_18848.jpg
t20170906103438_18849.jpg
t20170906103457_18850.jpg
t20170906103521_18851.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683