กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ >> ข้อมูลทางวิชาการ

เทคนิคการทำยางแผ่นรมควันให้สวย ได้มาตรฐาน (ตอนที่ 2) (29/01/61)


วันที่ 29 ม.ค. 2561

t20180129231421_23250.jpg
t20180129231321_23251.jpg
     ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงระยะเวลาการกรีดยาง การเก็บ การใช้สารรักษาสภาพน้ำยางสด เพื่อที่จะได้น้ำยางที่มีความสดมากที่สุด ก่อนถึงโรงผลิต ซึ่งในตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงการรวบรวมน้ำยางสดจากสวนจนถึงการหาปริมาณเนื้อยางแห้ง
การรวบรวมน้ำยางสดจากสวน
         เมื่อเก็บน้ำยางสดจากสวนแล้วควรกรองไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเศษยางที่จับตัวแล้วปนเปื้อนไปกับน้ำยาง ไม่ควรใช้หญ้าแทนตะแกรงกรอง เนื่องจากจะมีจุลินทรีย์ปะปนที่เป็นสาเหตุให้น้ำยางสดจับตัวเป็นเม็ดได้ จากนั้นรวบรวมน้ำยางสดในภาชนะบรรจุที่สะอาด มีฝาปิดอย่างมิดชิด และส่งน้ำยางไปยังโรงผลิตให้เร็วที่สุด ขนส่งน้ำยางด้วยความระมัดระวังอย่าให้น้ำยางถูกกระแทกแรง ๆ ระหว่างการขนส่ง และอย่านำภาชนะที่บรรจุน้ำยางสดให้สัมผัสกับแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำยางเสียสภาพเร็วขึ้น
การรับน้ำยางสด ณ โรงผลิต
         จุดรับน้ำยางสดเป็นจุดที่มีความสำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องรับน้ำยางที่สดไม่เสียสภาพหรือจับตัวเป็นเม็ด หากน้ำยางเริ่มจับตัวไม่ควรนำน้ำยางไปผสมกับน้ำยางที่ยังสดอยู่เพราะจะทำให้น้ำยางทั้งชุดการผลิตที่นำไปทำแผ่นคุณภาพเสียทั้งหมดจะได้ยางแผ่นที่มีรอยตำหนิได้ ที่สำคัญโรงผลิตแต่ละแห่งควรมีข้อกำหนดระยะเวลาการับน้ำยางสด เช่น ไม่ควรเกิน11.00 น หรือ 11.30 น. เป็นต้น เพื่อที่จะใช้เวลาในการควบคุมคุณภาพน้ำยางสด
          เมื่อเกษตรกรนำน้ำยางสดสด สะอาดมาสู่โรงผลิตแล้ว จำเป็นต้องกรองโดยใช้ตะแกรงกรองเบอร์ 40 – 60 เมช เพื่อกรองสิ่งปนเปื้อนที่อาจติดมากับน้ำยางได้ หรือกรองน้ำยางที่จับตัวเป็นก้อน หรือก่อนกรองคนงานที่รับตัวอย่างจะต้องสังเกตสี กลิ่น หรืออาจใช้มือจับน้ำยางเพื่อป้องกันน้ำยางที่จับตัวเป็นก้อนมาก่อนแล้ว นำไปผสมกับน้ำยางของรายอื่น หากน้ำยางที่เริ่มเสียสภาพ ก็ให้เจ้าของน้ำยางนำกลับบ้านไปผลิตเป็นยางก้อนที่บ้านตนเอง อย่าให้นำมาปะปนกับน้ำยางที่ยังสดเด็ดขาด การตัดสินใจเช่นนี้สมาชิกจะเริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้น โอกาสภายหน้าที่น้ำยางไม่สดก็จะลดลน้อยลง จนไม่มีในที่สุด
         วิธีการรับน้ำยางสด
            1. ให้กรองน้ำยางสดก่อนชั่ง มิเช่นนั้นโรงผลิตจะแบกภาระน้ำหนักของยางที่จับตัวเป็นก้อนหรือใบไม้ หอย หญ้า ที่อาจติดมากับน้ำยางและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต หรือ การคำนวณค่า DRC ที่อาจผิดพลาดได้
            2. ให้รวมน้ำยางสดเป็นชุดเดียวกัน เช่น สมาชิกที่นำน้ำยางมามากกว่า 1 แกลลอน ให้เทน้ำยางในภาชนะรวมโดยผ่านตัวกรองก่อน จากนั้นบันทึกน้ำหนัก
            3. สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำยางสดของสมาชิกแต่ละรายไม่น้อยกว่า 50 มล. เพื่อนำไปหาค่า DRC ที่เป็นตัวแทนของน้ำยางสดที่แท้จริง ด้วยการหาค่า DRC ตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ
           4. นำไปเทรวมในบ่อรวมยาง โดยผ่านตะแกรงกรองขนาด 80 เมช
           5. รับน้ำยางสดจนเกือบเต็มบ่อหรือกะปริมาตรที่เพียงพอในการปล่อยน้ำยางลดตะกงได้ราว 4 - 6 ตะกง ให้สุ่มหา DRC รวม ด้วยการใช้เครื่องไมโครเวฟของบ่อนั้น ๆ เพื่อจะได้คำนวณปริมาตรน้ำยางที่ใช้ในการจับตัวยางในลำดับถัดไป จากนั้นสลับบ่อเพื่อรับน้ำยางสดต่อไป
        ดังนั้นเพียงได้น้ำยางที่สดมาจากสวน สะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อนใด ๆ ก็สามารถผลิตยางแผ่นที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก ลำดับถัดไปที่จะทำให้ยางมีคุณภาพดีหรือไม่ ก็อยู่ในขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตของโรงรมควันนั่นเอง
ข้อควรระมัดระวังในการเทน้ำยางลงในบ่อรวมยาง
          1. ทำความสะอาดบ่อรวมยางให้สะอาดและเปียกน้ำก่อนเทน้ำยางสดลงบ่อรวม
          2. ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำยางเสียสภาพได้ง่ายให้รองก้นบ่อด้วยแอมโมเนียความเข้มข้นเพียง 1% ในปริมาณเล็กน้อยไม่เกิน 1 ลิตร ต่อน้ำยางสด 500 ลิตร ถ้าหากใส่ในปริมาณมากเกินไปจะส่งผลให้การจับตัวของน้ำยางช้า
         3. สำหรับบ่อรับน้ำยางที่มีขนาดใหญ่และมีความสูงเกินกว่า 1.5 เมตร ควรทำรางให้น้ำยางค่อย ๆ ไหลลงบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางกระแทกกับบ่อรวมยางแรงเกินไปและไม่ให้น้ำยางเกิดฟองอากาศ ที่เป็นสาเหตุให้ยางแผ่นรมควันเป็นยางฟองได้
         4. ห้ามใช้ปั๊ม ทำการปั๊มน้ำยางลงบ่อรวมหรือลงตะกงเพราะจะทำให้น้ำยางเกิดฟองกากาศ และโดนกระแทกจากการใช้ปั๊ม น้ำยางจะเสียสภาพได้ง่ายซึ่งเป็นสาเหตุให้เป็นยางฟองเช่นกัน
         5. ในระหว่างที่สุ่มตัวอย่างหา DRC ในบ่อรวมยาง ห้ามมิให้เทน้ำยางสดลงในบ่อรวมยางนั้น เพราะจะทำให้ค่า DRC ผิดพลาดได้
การหา DRC รวม
        จะต้องหา DRC รวมในบ่อรวบรวมน้ำยางเพื่อใช้ในการคำนวณการจับตัวของยางในตะกงดังนี้
       1. กวนน้ำยางในบ่อรวมยางนั้นให้เข้ากัน
       2. สุ่มตัวอย่างน้ำยางสดอย่างน้อย 50 มล. ภาชนะเก็บตัวอย่าง
       3. สุ่มน้ำยางน้ำหนัก 4.5 กรัม ใส่ในถ้วยเคลือบที่สะอาดและแห้ง
       4. นำเข้าเครื่องไมโครเวฟ อบนาน 3 นาที ที่อุณหภูมิสูงสุดหรือที่ 800 วัตต์
       5. นำออกจากเครื่องไมโครเวฟ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น นำตัวอย่างยางที่ผ่านการอบแล้ว ชั่งน้ำหนัก      
       6. ค่าที่อ่านได้คูณด้วย 20 เช่นน้ำหนักยางหลังอบได้ เท่ากับ 1.6 กรัม ดังนั้น % DRC = 1.6 x 20 = 32
      7. ค่าที่อ่านได้จะใช้ในการทำยางแผ่นรมควันต่อไป
           สำหรับตอนต่อไปจะกล่าวเทคนิคการทำแผ่นติดตามกันให้ได้นะคะใน facebook ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้
เรื่อง : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล
ภาพ : คมกริช กังรัตน์
t20180129231330_23253.jpg
t20180129231343_23254.jpg
t20180129231402_23255.jpg
t20180129231428_23256.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683