กยท. ลุยลงพื้นที่ฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำลด เคาะ จ.นครศรีฯ แห่งแรก อ่วมสุด พร้อมมอบเงินเยียวยาให้สวนยางที่ประสบภัยน้ำท่วม

                สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้เริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ได้เร่งสำรวจความเสียหายของสวนยาง พบสวนยางเสียหายจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้กว่า 32,000 ไร่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีสวนยางประสบภัย ตามระเบียบสวัสดิการชาวสวนยาง มาตรา 49 (5) รายละ 3,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 3,913 ราย เร่งนำร่องมอบให้ชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมจับมือทุกภาคส่วน ช่วยเหลือกล้ายาง/เมล็ดพันธุ์พืชแก่พี่น้องชาวสวนยางในพื้นที่
               ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องประมาณ 2 เดือนเศษ ทำให้สวนยางภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างกว่า 7 แสนไร่ เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนหลายหมื่นครัวเรือน แต่ทั้งนี้ ยางพาราเป็นพืชที่สามารถทนน้ำท่วมขังได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของต้นยางด้วย ฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมา กยท.ได้เร่งลงพื้นที่สำรวจสวนยางที่ได้รับความเสียหายหลังจากน้ำลด และเข้าสู่สถานการณ์ปกติในทุกพื้นที่ พบว่า มีพื้นที่สวนยางจมน้ำและสวนยางเกิดความเสียหายไม่สามารถให้ผลผลิตได้ในเบื้องต้นประมาณ 32,655 ไร่ และมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3,913 ราย ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ จะได้รับเงินสวัสดิการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รายละ 3,000 บาท จากงบประมาณกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (5) สวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อ ชดเชยรายได้ที่สูญเสีย เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พี่น้องชาวสวนยาง
               ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรที่มีสวนยางในระหว่างการส่งเสริมและสนับสนุนปลูกแทน กยท. จะแบ่งการช่วยเหลือสวนยางตามอายุของต้นยาง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตั้งแต่ 0-2 ปีครึ่งซึ่งเป็นยางเล็กที่มีโอกาสเสียหายสูง กลุ่มอายุยาง 2 ปีครึ่งถึง 7 ปีคือก่อนเปิดกรีด และกลุ่มที่เปิดกรีดแล้ว ซึ่งกรณีที่สวนยางเปิดกรีดแล้วมีความเสียหาย สามารถขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนตามหลักเกณฑ์ของ กยท. ไร่ละ 16,000 บาท และในส่วนของกลุ่มยางเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างให้การปลูกแทน กยท. จะดำเนินการเร่งจัดงวดงานเพื่อปลูกใหม่
               "กยท. ทุกจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จะต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนการใช้จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรายละ 3,000 บาท ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และได้แจ้งความเสียหายให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดกรีด พร้อมทั้ง กำชับให้ทุกพื้นที่ให้ความรู้แนวทางการฟื้นฟูสวนยางอย่างถูกวิธีหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ต้นยางสามารถให้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back