ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางแผ่นรมควันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาหลักคือสมบัติที่ผลิตได้ไม่สม่ำเสมอทำให้ส่งผลต่อการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื่องจากผู้ผลิตต้องปรับสูตรส่วนผสมใหม่ทุกครั้งที่นำยางแต่ละชุดมาผลิต ยางแผ่นรมควันจะมีสมบัติที่โดดเด่นกว่ายางแท่ง ยางเครพและยางดิบชนิดอื่น ๆ ในเรื่องความยืดหยุ่น ความต้านทานต่อแรงดึง ความต้านทานต่อการเสื่อมสภาพ และแรงกดทับน้ำหนัก เป็นต้น การทำยางแผ่นรมควันให้สวยได้มาตรฐาน ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยมีเทคนิคง่าย ๆ เริ่มจากน้ำยางต้องมีความสด และสะอาดมากที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ดังนั้นจุดรวบรวมน้ำยางจะต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกโดยให้ความสำคัญกับระยะเวลาการกรีดยาง การรวบรวมน้ำยางก่อนเข้าสู่โรงผลิต ดังนี้
1. กรีดยางหลังเที่ยงคืน การกรีดยางหลังเที่ยงคืนจะทำให้ได้น้ำยางที่สด และลดปัญหาการบูดของน้ำยางก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นสาเหตุให้ยางแผ่นเกิดฟองอากาศขนาดเล็กและรอยตำหนิบนแผ่นยาง
2. ใช้ถ้วยรองรับน้ำยางที่สะอาด หลังที่เก็บน้ำยางสดจากถ้วยแล้วเทใส่ในถังหรือภาชนะรวบรวม ควรคว่ำถ้วยรองรับน้ำยางทุกครั้งสำหรับใช้งานในครั้งต่อไป เพื่อป้องกันน้ำฝนหรือสิ่งเจือปนที่อาจตกในถ้วยที่เป็นสาเหตุให้น้ำยางสดที่กรีดได้เสียสภาพเร็วกว่าปกติ
3. กรองน้ำยางสดจากสวนก่อนส่งโรงผลิต
ขณะที่รวบรวมน้ำยางสดอาจมีสิ่งปะปนหล่นไปผสมกับน้ำยางได้ การกรองด้วยตะแกรงกรองหยาบขนาด 10 - 40 mesh จะช่วยให้น้ำยางสะอาดและคงความสด ไม่ควรใช้หญ้าเป็นตัวกรองน้ำยางสดเพราะทำให้มีแบคทีเรียปะปนไปกับน้ำยางเพิ่มมากขึ้น น้ำยางก็จะบูดเร็วขึ้น
4. ไม่เติมน้ำหรือสิ่งปลอมปนใด ๆ ลงในน้ำยางสด การเติมน้ำจะทำให้ปริมาณเนื้อยางแห้งลดลง ส่งผลให้น้ำยางจับตัวเป็นเม็ดได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับใส่สิ่งปลอมปนจะทำให้ยางแผ่นสกปรก ขาดสปริง ส่งผลเสียหายต่อการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์
5. ใส่สารรักษาสภาพน้ำยางสดเท่าที่จำเป็น ในช่วงฤดูกาลปกติไม่จำเป็นต้องใช้สารรักษาสภาพใด ๆ นอกจากจะไม่สิ้นเปลืองสารเคมีแล้ว ยังทำให้ยางแผ่นรมควันที่ผลิตได้สีสวย โปร่งแสง ผลิตได้ง่าย ใช้ระยะเวลารมควันสุกเร็ว แต่บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องใช้สารรักษาสภาพย้ำยางสดได้ในกรณีที่ใช้ระยะเวลาตั้งแต่กรีดจนถึงโรงผลิตนานกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป หรือช่วงฤดูฝนที่มีน้ำฝนปะปนกับน้ำยางในขณะกรีด โดยมีข้อแนะนำการใช้สารดังนี้
5.1 ใช้โซเดียมซัลไฟต์ (Na2SO3) 0.05% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด เตรียมได้โดยชั่งโซเดียมซัลไฟต์ 50 กรัม ละลายในน้ำสะอาด 1 กิโลกรัม วิธีการใช้หยอดในถ้วยรองรับน้ำยางขณะกรีดประมาณ 2 ซีซี หรือใส่รองก้นภาชนะก่อนรวบรวมน้ำยางสดในอัตราสารละลายโซเดียมซัลไฟต์ 1 ลิตร ต่อน้ำยางสด 100 กิโลกรัม หมายเหตุ สารชนิดนี้ควรเตรียมวันต่อวัน เพื่อป้องกันการระเหยของกำมะถันที่อาจทำให้ความเข้มข้นของสารลดลงได้
5.2 ใช้สารละลายแอมโมเนียอัตรา 0.03% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด สำหรับสวนขนาดใหญ่หรือจุดรวบรวมน้ำยางสดที่ต้องส่งโรงผลิตที่มีกำลังการผลิตยางแผ่นมากกว่า 2 ตันต่อวัน เตรียมโดยปล่อยก๊าซแอมโมเนียลงในน้ำสะอาด 940 กิโลกรัม จนได้น้ำหนักครบ 1,000 กิโลกรัมจะได้ stock สารละลายแอมโมเนียที่มีความเข้มข้น 6% จากนั้นใช้สารละลายแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำยางสด 1,000 กิโลกรัม
เรื่อง/ภาพ : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล |