กลับหน้าเว็บไซต์
|
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่ |
|
เฉลิมชัย ดันราคายางต่อเนื่อง ทะลุ 80 บ./กก. แล้ว กยท. ชี้ อาจแตะ 100 บาท
วันที่ 28 ต.ค. 2563
|
"เฉลิมชัยดันราคายางต่อเนื่องเดินหน้า "เกษตรฯ - พาณิชย์โมเดล ลุย 6 มาตรการเจาะตลาดจีนทุกมณฑลเปิดตลาดใหม่ กยท. ชี้ ราคายางขาขึ้นสถานการณ์คล้ายปี 60 อาจแตะ 100 บาท
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า สถานการณ์ความต้องการยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ราคาในประเทศและในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดล "เกษตรพาณิชย์ทันสมัย ซึ่งเป็นความร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่แล้วทั้งโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางและล่าสุด คือ 6 มาตรการปฏิรูปยางพาราตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอลเพื่อเพิ่มราคาและสร้างเสถียรภาพราคารวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นลงทุนแปรรูปส่งเสริมวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้กลยุทธ์ใหม่ การขายการตลาดเชิงรุกเจาะจีนทุกมณฑลและเปิดตลาดใหม่ๆในประเทศต่างๆ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.มาตรการตลาดและราคา(Market & Price) 2. มาตรการการบริหารด้านอุปทาน(Supply Side Management) 3.มาตรการการบริหารด้านอุปสงค์ ( Demand Side Management) 4. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 5. มาตรการลดสต็อกยางพารา และ 6. มาตรการเพิ่มรายได้
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย แถลงว่า ราคายางยังแรงไม่หยุด หลังปิดตลาดวันนี้ (28 ต.ค.63) ราคายางแผ่นรมควันพุ่งแตะสูงสุด 82.80 บาท/กก. ที่ตลาดกลางยางพารา จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ส่วนตลาดกลางฯ จ.สุราษฎร์ธานี ราคาอยู่ที่ 82.69 บาท/กก. โดยหลังจากเปิดตลาดสัปดาห์นี้เพียง 3 วัน ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 16 บาท คาดการณ์ว่าราคาสามารถพุ่งสูงต่อเนื่องอาจแตะ 100 บาท/กก. ได้ ทั้งนี้ ราคายางจะยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานและมาตรการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอ้างอิงได้จากปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.4 แสนตัน น้อยกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ประมาณ ร้อยละ 10 ขณะเดียวกันความต้องการยางในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทยุทธภัณฑ์ ถุงมือยาง ยางยืด
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางที่มากที่สุด มีการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 ดัชนี PMI ของจีนยังอยู่ที่ 51.50 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว คำสั่งซื้อยางของจีนจากต่างประเทศกลับมาฟื้นตัว การจำหน่ายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63 กำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มใช้ยางมากขึ้นด้วย เชื่อว่าราคายางยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่น่าหวั่นใจว่า ต่อไปผลผลิตยางอาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683 |