กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง RSS

นายกฯ ย้ำผ่านรายการ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 28 ก.ค.60 แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้องปฏิรูปทั้งระบบ มองให้ครบวงจรภาคเกษตรและห่วงโซ่ ยกตัวอย่างยางพารา แก้ปัญหาต้องยั่งยืน


วันที่ 29 ก.ค. 2560
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกอากาศรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ใจความสำคัญตอนหนึ่งกล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรไทยที่ตกต่ำ ต้องศึกษาปัจจัยของปัญหารอบด้าน เน้นปฏิรูปทั้งระบบ มองให้ครบวงจรภาคเกษตรและห่วงโซ่ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหายางพารา ดังนี้
 
...ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชดำรัสกับคณะรัฐมนตรี ถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศและประชาชน สรุปใจความสำคัญได้ว่า การปฏิบัติงานนั้นไม่ว่าจะปฏิบัติงานใด ย่อมมีปัญหาย่อมมีอุปสรรค ซึ่งปัญหาและอุปสรรคนั้นคือบททดสอบ มีอะไรก็ปรึกษากัน หาข้อมูลที่ถูกต้อง และปฏิบัติด้วยความรอบคอบ ให้สมกับสถานการณ์และเหตุผล ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติ อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชทานแนวทางไว้ ขอฝากให้ได้ศึกษาพระราชดำริ ศึกษาวิเคราะห์พระราชปณิธานและศึกษาพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงปฏิบัติมา ซึ่งผมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการทุกคน ได้น้อมนำใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างการความผาสุก แก่พี่น้องปวงชนชาวไทยเสมอมา อาทิ ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยการศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรอบด้าน
 
ยางพารา ต้องลดการผลิต เพิ่มแปรรูป ใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ลดปริมาณการส่งออกซึ่งไม่มีเสถียรภาพ ยางพารา ต้องลดปริมาณการผลิต เพิ่มการแปรรูป ใช้งานให้มากยิ่งขึ้นภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มาตรการนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา และเป็นประเทศผู้ผลิตเช่นเดียวกับไทย แต่ไม่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะมาเลเซีย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผลิตยางพาราเกือบล้านกว่าตัน เป็นอันดับหนึ่งของโลก เขาคาดการณ์อนาคตแล้วว่า ความต้องการใช้ยางพาราจะถึงทางตัน เพราะมีอย่างอื่นมาแทน จึงตัดสินใจโค่นยางพาราลงตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนเมื่อปี 2545 มาเลเซียมียางพารา 7 แสนตันเท่านั้น และเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในประเทศอยู่ที่ 4–5 แสนตัน นั่นคือผลิตยางออกมาพอดีกับที่ใช้ภายในประเทศ
อีกประเทศหนึ่ง อินโดนีเซีย ปลูกยางพารามาก และใช้ยางในประเทศน้อย ไม่ต่างจากไทย แต่ไม่มีปัญหาเหมือนเรา เพราะยางพาราของเขาเป็นยางที่อยู่ในป่า เป็นยางที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ชาวบ้านเห็นว่าราคาดีก็เลยไปกรีดเอาออกมาขาย ตอนไหนเห็นราคาไม่ดีก็ไม่ไปกรีด ไปทำอาชีพอื่น ดังนั้น แม้ราคายางพาราจะมีการขึ้นหรือลง ก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับเพื่อนบ้านเราทั้ง 2 ประเทศผู้ผลิตยางพารา เนื่องจากผลิตให้พอดีกับการใช้ภายในประเทศ ที่เหลือส่งออก พร้อมกับแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
นอกจากนี้ ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ประเทศไทย ในปี 2545 มียางพารา 3 ล้านตัน ปัจจุบันมี 5.4 ล้านตัน แต่การใช้ยางในประเทศใน 15 ปีที่ผ่านมา เรายังอยู่ที่ 4–5 แสนตัน ไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมนัก แปลว่า ต้องส่งออกมากขึ้น ๆ ทุกปี แต่ถ้าวันหนึ่งโลกนี้ไม่ต้องการใช้ยางพารา มีสิ่งอื่นทดแทนที่ถูกกว่าหรือดีกว่า แล้วยางพาราส่วนเกินราว 4–5 ล้านตัน จะทำอย่างไร ราคาต้องตกแน่นอนอยู่แล้ว
 
หว่านเม็ดเงินช่วยเหลือประกัน-พยุงราคายาง ไม่ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหา ไม่ยั่งยืน ต้องลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์-พื้นที่ไม่เหมาะสม ที่แย่กว่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางของเราจะปรับตัวทันหรือไม่ แรงงานในสวนยางอีกด้วย จะทำอย่างไร หากเราไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ในสิ่งเหล่านี้ ที่มีเพียงแต่รัฐบาลนี้ที่กล้าพูดความจริง ถ้าวันนี้เรายังใช้การแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปวันๆ หรือ เลี้ยงไข้เพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะยางพารา ไม่ต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่กลายเป็นสินค้าการเมืองไปแล้ว และเกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น ถ้าเรายังแก้ปัญหาโดยการหว่านงบประมาณลงไปอุดหนุน ก็ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรได้รู้ถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ได้อยากเลิกปลูกยางพารา หรือปลูกให้น้อยลง โดยเฉพาะในส่วนที่เกินความต้องการ เช่น การปลูกในพื้นที่บุกรุกป่าบ้าง ไม่เหมาะกับการปลูกยางบ้าง แต่เหมาะกับการทำอย่างอื่น ผมคิดว่ามันส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะยิ่งเราใส่เงินลงไป ก็เหมือนใส่น้ำมันเข้าไปในกองไฟเหมือนสนับสนุน หรือชอบให้แห่กันปลูกยาง แล้วปัญหาก็ไม่จบ ขยายตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามที่ยกตัวอย่างไว้ หรือถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการประกันราคา พยุงราคา มันก็แค่ชะลอปัญหาเท่านั้น
 
ย้ำรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหายางอย่างยั่งยืน ปรับสมดุลการผลิต-ความต้องการใช้ เพิ่มใช้ยางในประเทศให้หลากหลายจากหน่วยงานรัฐ มูลค่ามากกว่า 17,000 ล้านบาท ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของรัฐบาล คือ (1) ปรับสมดุลของการผลิตกับความต้องการใช้ และ (2) เพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการลดการเพาะปลูกในพื้นที่บุกรุก เพื่อลดการผลิตและไม่ละเลยการทำผิดกฎหมาย อีกทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ หรือตลาดในประเทศ อาทิ ยางพารา ซึ่งรัฐบาลให้ทุกกระทรวงหามาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยล่าสุด สามารถสรุปความต้องการน้ำยางข้น 16,000 กว่าตัน และยางแห้ง 4,500 กว่าตัน คิดเป็นงบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท สำหรับทำแผ่นทางปูพื้นคอกปศุสัตว์ พื้นอ่างเก็บน้ำ สระเก็บน้ำในไร่นา ลานกีฬา สนามฟุตซอล ลู่วิ่ง สนามเด็กเล่น ลานอเนกประสงค์ บล็อกยางพาราเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ที่นอน หมอนยางพารา ยางรถยนต์ใช้ในราชการ และพื้นผิวถนน เป็นต้น
 
ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องของภาคเกษตร เรียกร้องหันมาปลูกพืชตรงความต้องการตลาด รัฐต้องการปฏิรูปทั้งระบบ ต้องมองให้ครบวงจรในภาคการเกษตรและห่วงโซ่ วันนี้ ได้ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานที่จะใช้วัตถุดิบจากภาคการเกษตรของเราให้มากยิ่งขึ้น ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหายังไม่จบแต่เพียงแค่นี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีแรงงานภาคการเกษตร อาทิ ทำสวน ไร่ นา ประมง ปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ หรือทำงานที่เกี่ยวข้อง เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรอีก รวมกันเกือบครึ่งประเทศ หรือร้อยละ 40 ของประชากรไทยราว 25 ล้านคน หรือ 6 ล้านครัวเรือน แต่เป็นภาคการผลิตที่มีสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้ง ๆ ที่แผ่นดินไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หากเราไม่ปลูกพืชในพื้นที่สูง ไม่มีระบบชลประทาน ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง แล้วหันมาเพาะปลูก หรือทำเกษตรที่มีคุณภาพ ลงทุนน้อยกว่า ได้ผลผลิตมากกว่า และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด แลกเปลี่ยนค้าขายซึ่งกันและกัน ดังนั้น รัฐบาลนี้ต้องการแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยปฏิรูปทั้งระบบพร้อม ๆ กัน ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน สินค้าเกษตร อาชีพเสริม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สิ่งที่เหมาะสมกว่า ด้วยความสมัครใจ นอกจากผู้ผลิต คือ เกษตรกรแล้ว ยังมีกลางทาง พ่อค้าคนกลาง การแปรรูป แล้วก็ปลายทาง ในเรื่องของการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผลกระทบจากราคาตกต่ำของผลิตผลทางการเกษตรทั้งสิ้น เราต้องมองให้ครบวงจร เพราะเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกัน ทั้งในภาคการเกษตร และในธุรกิจห่วงโซ่เหล่านั้น อีกมากมาย
 
............................
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ
 
 

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683