กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง RSS

กยท. และ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศ ลงพื้นที่ จ.ตรัง หาแนวทางส่งเสริมใช้ยางในประเทศ มุ่งเน้น การทำถนนยางพารา


วันที่ 28 ก.ย. 2560

         เมื่อเร็วๆ นี้ กยท. นำโดยผู้ว่าการ กยท. พร้อมด้วยคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศ ลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อหาแนวทางส่งเสริมใช้ยางในประเทศ มุ่งเน้น ทำถนนยางพารา ชู อบจ.ตรัง องค์กรรัฐต้นแบบที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนำยางพารามาใช้เป็นวัตถุดิบหลักด้านการพัฒนาคมนาคมในพื้นที่
        นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่นำถนนยางพารามาดำเนินงานจริง และมีการตั้งงบประมาณต่อเนื่อง โดยก่อสร้างถนนด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมทบงบประมาณกับท้องถิ่นอื่นในพื้นที่อัตรา 60 ต่อ 40 ซึ่งริเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2558-2560 รวมทั้งสิ้นกว่า 120 สายทาง ได้แก่ ถนนประเภทพาราแคปซีล ที่สายหนองห้าง-มาบมวง หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำผุด เชื่อม ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง สายสระนางหงส์ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านโพธิ์ เชื่อม ตำบลน้ำผุด อ.เมืองตรัง และถนนประเภทแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายแบกพอก หมู่ที่ 6 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรังเป็นต้น ใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท และสามารถใช้น้ำยางพาราได้มากกว่า 200,000 กิโลกรัม เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางสดในจังหวัด และที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ
        ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถนนผสมยางพาราที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง นับว่าเป็นองค์กรรัฐต้นแบบที่ให้ความสำคัญในการนำยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในการแปรรูปและใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อสร้างถนนผสมยางพารา ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพและประสิทธิภาพของถนนที่ทำจากยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการใช้ยางพาราในการทำถนน เพื่อกระตุ้นการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาท้องถิ่นอื่นๆ ยังไม่สามารถดำเนินการและผลักดันถนนยางพารามากนัก ซึ่งต้องให้กรมทางหลวงมีมาตรฐานราคากลางเป็นมาตรฐานที่รับรองมาให้ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถหยิบเอาไปใช้ได้ แต่ขณะนี้มีผลการดำเนินการชัดเจน มีหลักเกณฑ์ที่ปฏิบัติได้ คาดว่า ประเทศไทยจะมีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า จะส่งประโยชน์ทุกภาคส่วน และประโยชน์ที่สำคัญจะเกิดแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทางที่จะขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม
         ดร.ธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ เผยว่า จากการลงพื้นที่ศึกษา ดูงาน จ.ตรัง ในครั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ มีแนวทางร่วมกันว่า จะใช้โมเดลถนน จ.ตรัง เป็นตัวอย่างในการเสนอให้รัฐบาลมีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม เนื่องจากถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา จะมีอายุการใช้งานที่สูงกว่ายางมะตอย 2 เท่า ในขณะที่มีต้นทุนสูงกว่ากันไม่มากนัก ตารางเมตรละ 100 กว่าบาท โดยประมาณ แต่เมื่อเทียบด้านอายุการใช้งานแล้วถือว่าคุ้มค่า และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะนำมติดังกล่าว เสนอยังกระทรวงคมนาคม ต่อไป ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
t20170928120656_19089.jpg
t20170928120657_19090.jpg
t20170928120659_19091.jpg
t20170928120701_19092.jpg
t20170928120702_19093.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683