กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง RSS

กยท. ร่วมกับ ธ.ก.ส. จัดสัมมนาการพัฒนาด้านธุรกิจ และเทคโนโลยี สำหรับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา


วันที่ 3 พ.ย. 2560

         เมื่อเร็วๆ นี้ กยท. และ ธ.ก.ส. จัดเวทีให้ความรู้และจุดประกายด้านธุรกิจและเทคโนโลยีแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง SMEs กว่า 40 แห่งหวังพัฒนาด้านธุรกิจ และพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่สำคัญ กิจกรรมครั้งนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพัฒนาธุรกิจ และเป็นตัวอย่างต้นแบบให้กับสถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มอื่นๆ ต่อไป เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ก้าวสู่ความเป็นสากล และต่อยอดสร้างรายได้ถึงมือเกษตรกรโดยตรง
         ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวทีแห่งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง SMEs จาก 40 แห่ง ประมาณกว่า 100 คน จะได้รับความรู้ ความเชี่ยวชาญจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิองค์ความรู้ และการต่อยอดพัฒนาธุรกิจกลับไปเป็นเม็ดเงินที่สร้างรายได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทั้งจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ประสบความสำเร็จสามารถส่งขายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลก กับผู้ประกอบกิจการยางรายใหม่ที่มีความพร้อมนำผลิตภัณฑ์จากยางพาราก้าวสู่ตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นพัฒนาผู้ประกอบการในทุกมิติ ตั้งแต่การเป็นนักคิด นักการตลาดในการนำผลผลิตที่มาจากต้นยางพารา สามารถนำไปแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง และพัฒนาตนเองเป็นนักเทคโนโลยีควบคู่ด้วย เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ สามารถนำผลผลิตภัณฑ์ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย รวดเร็ว จำเป็นต้องรู้ เข้าใจและเท่าทันเทคโนโลยี
           ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตยางกำลังเผชิญกับกับปัญหาหลักๆ ที่สร้างผลกระทบต่อยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ปัญหาโครงสร้าง ในฐานะผู้ส่งออกยางรายใหญ่ แต่ประเทศไทยกลับใช้ยางพาราภายในประเทศเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคา จำเป็นต้องเพิ่มการใช้ทดแทนในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ประเด็นด้านต้นทุนการผลิตในประเทศไทยที่ยังคงสูง ซึ่งการจะสร้างให้เป็นแบรนด์จากยางพาราไทยที่ไม่มีประเทศใดสามารถลอกเลียนแบบได้ ตามระบบคุณภาพที่มีมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน และรายได้ที่เข้ามาให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน ปัญหาด้านการกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน เพราะโลกมีการติดต่อสื่อสารในเรื่องของข้อมูล ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานที่สากลยอมรับจะช่วยลดปัญหานี้ได้ ปัญหาแรงงาน ในอดีตมีคนเพียงพอที่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันปัญหาแรงงานเกิดขึ้นกับทุกภาคธุรกิจ รวมถึงภาคเกษตรอย่างสวนยางพารา ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดปัญหาได้
          "การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย ต้องมีความชัดเจนร่วมกัน ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ราคา และการส่งเสริมการขาย โดยต้องร่วมกันคิด เพื่อให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งเป็นการสร้างให้เห็นเอกลักษณ์ของสินค้าอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์ และสิ่งสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์และคุณภาพ ทั้งนี้ การ บูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน โดยรัฐเปรียบเหมือนศูนย์บ่มเพาะจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนให้ทั้งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง เกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และพัฒนาธุรกิจให้แข็งแรง สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง จะสร้างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ สุนันทิกา ปางจุติ /ข่าว ณภัทร โรหิตรัตนะ / ภาพ
t20171103142045_20276.jpg
t20171103142046_20277.jpg
t20171103142047_20278.jpg

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683