กลับหน้าเว็บไซต์
main
ตารางราคายาง วันนี้
ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง RSS

กยท. ยัน ประมูลปุ๋ยโปร่งใส มีคณะอนุกรรมการฯ กำกับทุกขั้นตอน ย้ำ ปัจจัยการผลิตไม่ใช่ทุนให้เปล่า มุ่งใช้ให้ตรงตามเป้าหมาย


วันที่ 10 ม.ค. 2561

         การยางแห่งประเทศไทย ยืนยัน การประมูลปุ๋ยโปร่งใส ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การยางฯ ตรงตามวัตถุประสงค์ กำกับดูแลโดยคณะอนุกรรมการฯ ที่มาจากทั้งหน่วยราชการและตัวแทนเกษตรกรทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำ ปัจจัยการผลิตไม่ใช่ทุนให้เปล่า ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
        นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะรองโฆษกการยางแห่งประเทศไทย กล่าวแจงประเด็นที่มีผู้กล่าวหาการจัดซื้อปุ๋ยของ กยท.ว่า การจัดหาปุ๋ยให้ชาวสวนยางที่ได้รับทุนปลูกแทน เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 37 วรรค 2 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า การปลูกแทน ให้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยการจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้ ทั้งนี้จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ซึ่งการดำเนินการจ่ายค่าปุ๋ยที่ผ่านมา มีการดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายเป็นเงินให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ยใส่เอง การโอนสิทธ์การรับเงินค่าปุ๋ย ให้กลุ่ม/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้จัดหาปุ๋ยให้ และการยางแห่งประเทศไทย (หรือในฐานะ สกย. เดิมที่เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้) เป็นผู้จัดหาให้ ซึ่งแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสียรวมถึงวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ การจัดหาปุ๋ยสำหรับช่วงตั้งแต่กลางปีงบประมาณ 2560 (1 เมษายน 2560) เป็นต้นไป กยท. ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของการยางแห่งประเทศไทยที่มีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเกษตรกรในการทำหน้าที่เสนอแนวทาง ติดตาม กำกับ และตรวจสอบการบริหารจัดการปุ๋ย พร้อมทั้ง ยังมีตัวแทนคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสม เพื่อมอบเป็นนโยบายในการทำงานเรื่องนี้ของ กยท. ทั้งนี้ การดำเนินดังกล่าวมีมติเห็นชอบให้การยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยตามข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา พ.ศ.2559 และใช้วิธีการประมูลทางอิเลคทรอนิกส์ เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม
          นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนดำเนินการสำหรับการจัดหาปุ๋ย เป็นไปตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้กำหนดไว้ ตั้งแต่การจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) และเอกสารประมูลปุ๋ยนำประกาศร่างเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเลคทรอนิกส์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ เปิดให้มีการเสนอแนะและวิจารณ์โดยมีผู้เปิดเผยตัว ปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์พร้อมความเห็น ประกาศเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการอีกครั้ง ทั้งนี้การประมูลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อเอกสารประมูลปุ๋ยเคมี จำนวน 11 ราย และประเภทปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 20 ราย โดยผู้ที่ยื่นซองประมูลจะต้องดำเนินการประมูลด้วยวิธีทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้รับผิดชอบจัดการประมูล ทำหน้าที่ดำเนินการ สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เลือกใช้วิธีการจัดหาเองแทนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร เพราะข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การให้ทุนเพื่อปลูกแทน ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไปจัดหาปัจจัยการผลิตเท่านั้น ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ได้รับเงินไปแล้วอาจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่ กยท. จัดหาได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร สามารถตรวจสอบได้
          "ชนิดและปริมาณปุ๋ยนั้นเป็นไปตามความต้องการใช้ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในการสงเคราะห์ โดยมีการยางแห่งประเทศไทยระดับจังหวัด ประสานกับกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการจัดหาปุ๋ยครั้งนี้ดำเนินการในพื้นที่ปลูกยางพาราหลัก 18 จังหวัด (ได้แก่ ภาคใต้ 14 จังหวัด รวมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง จันทบุรี และตราด) เป็นปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.2 ตัน (ประกอบด้วย แม่ปุ๋ย ปุ๋ยเคมีผสมสูตร 20-8-20 และปุ๋ยเคมีผสมสูตร 25-8-18) และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 30,000 ตัน รวมปริมาณทั้งหมด 64,724.2 ตัน ที่สำคัญ มีการตรวจรับและสุ่มตัวอย่างปุ๋ยเพื่อส่งวิเคราะห์ ที่ปลายทางจุดจ่าย มีประมาณ 300 จุด ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรกรรมการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ย ก่อนที่จะส่งปุ๋ยที่มีคุณภาพถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางผู้ใช้ต่อไป” นายสุนันท์ กล่าวย้ำ
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.

Valid HTML 4.01 Transitional

สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 241 แฟ็กซ์ 0-2435-8956, 0-2424-3683